วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เตรียมบุคลากรทางด้านอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน
รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษา เนื่องจากเป็นการจัดการศึกษาที่ผลิตคนเข้าสู่ภาคแรงงาน รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพเพื่อสร้างคุณภาพของคนไทย ให้สามารถเรียนรู้พัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพ และดำรงชีวิตได้ โดยมีความรู้ มีทักษะที่เหมาะสม เป็นคนดี มีคุณธรรม สร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการเหมาะสมของกับพื้นที่ ทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการ มุ่งพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต ส่งเสริมอาชีวศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ
ดร.รุจิรา แกล้วทะนงค์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา กล่าวว่า ทางวิทยาลัยฯ ได้จัดการศึกษาระบบทวิภาคีมากว่า 20 ปี โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาที่จบไปแล้วมีงานทำ ประกอบอาชีพด้วยทักษะฝีมือและความสามารถจริง ๆ
ด้าน อาจารย์ชลลดา ชลหิรัญ หัวหน้างานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี กล่าวว่า ทางวิทยาลัยฯ ได้เปิดสอนระบบทวิภาคีเฉพาะระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 มีนักศึกษาในระบบฯ จำนวน 400 คน ใน 8 สาขาวิชา
ขณะที่ อาจารย์สุรีวดี อินสุวรรโณ หัวหน้าภาควิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เป็นที่พึงพอใจอย่างมาก ทั้งแก่สถานประกอบการ นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่นอกจากจะเป็นการฝึกทักษะการประกอบอาชีพจริงแล้ว ยังสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นางสาวกัญญาพัชร อุดมศิลป์ นักศึกษา ปวส.1 สาขาวิชาเลขานุการและการจัดการสำนักงาน เล่าถึงเหตุผลในการเลือกเรียนระบบทวิภาคี ว่า สามารถหาประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ และสามารถหารายได้ระหว่างเรียนอีกด้วย
ขณะที่ นางสาวลลิตา สันสุวรรณ นักศึกษา ปวส.1 สาขาวิชาเลขานุการและการจัดการสำนักงาน กล่าวว่า ตนเองวางแผนไว้ว่าจะนำประสบการณ์จากการเรียนระบบทวิภาคี ไปต่อยอดการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีต่อไป
สำหรับการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของสถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแรงงาน และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทยให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานวิชาชีพ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป
สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา / รายงาน
